ท้ายที่สุดกับ เซนเซอร์ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Sensor), อุณหภูมิ (Temperature Sensor), ความชื้นสัมพัทธ์ (Humidity Sensor) และฟลั๊กซ์แม่เหล็ก (Hall Sensor) ไปดูรายละเอียดกันว่า มันถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรในสมาร์ทโฟน ^^
Heart Rate Sensor
เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Sensor) ที่โดยมาก มักจะอยู่ในรูปแบบของนาฬิกาข้อมือ ซึ่งอาจแสดงข้อมูลให้ทราบบนหน้าปัดนาฬิกาเลยก็ได้ หรืออาจใช้ควบคู่กับสมาร์ทโฟน โดยการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth หรือ Wireless เพื่อแสดงข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนก็ได้
โดยในการทำงานนั้น ที่ด้านหลังของตัวนาฬิกาข้อมือ จะประกอบด้วยหลอดไฟ LED สีเขียว ที่จะยิงลำแสงไปที่ผิวหนังของผู้ใช้งาน เพื่อตรวจวัดจังหวะในการเปลี่ยนสีของกระแสเลือด ที่อยู่ภายในหลอดเลือดใต้ชั้นผิวหนัง ในจังหวะที่มีความเข้ม-จางหรือสีแดงมาก-น้อยสลับกัน ตามจังหวะการเต้นหรือการทำงานของหัวใจ และส่งข้อมูลกลับมาที่ตัวเซนเซอร์ที่อยู่ทางด้านหลังของตัวนาฬิกาข้อมือ จากนั้นจึงแสดงผลเป็นตัวเลขบอกบนหน้าปัดนาฬิกาในแบบ Real-Time หรือส่งข้อมูลไปแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
(กรณีที่ผู้ใช้มีรอยสักที่ข้อมือ อาจทำให้ลำแสงไม่สามารถฉายไปถึงหลอดเลือด และทำให้เซนเซอร์ไม่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนสีของกระแสเลือดได้) ดังนั้น Heart Rate Sensor จึงมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง และผู้ที่ใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง เพราะจะช่วยให้ทราบถึงการทำงานของหัวใจของเราว่าเป็นอย่างไร ได้ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย
Temperature Sensor
เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจวัดอุณหภูมิบริเวณรอบๆ ตัวเครื่อง ซึ่งสามารถตรวจวัดอุณหภูมิได้แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสามารถนำเอาข้อมูลนี้ไปใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้
Humidity Sensor
เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ หรือก็คือ ค่าอัตราส่วนระหว่างปริมาณความชื้น (ไอน้ำ) ที่มีอยู่จริงในอากาศ กับปริมาณความชื้นที่อากาศในขณะนั้นจะรองรับได้เต็มที่ในอุณหภูมิเดียวกัน เช่น การออกกำลังกายในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ซึ่งจะทำให้การขับเหงื่อออกมาจากร่างกายทำได้ไม่ดี จึงส่งผลต่อหัวใจให้ทำงานหนักขึ้น
ข้อมูลความชื้นที่ได้จาก Humidity Sensor นี้ เมื่อนำมารวมกับข้อมูลอุณหภูมิรอบๆ ตัวที่ได้จาก Temperature Sensor จะช่วยให้นำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง สุขภาพ การพยากรณ์อากาศ และอื่นๆ ได้มากมาย
Hall Sensor
หรือ Hall-Effect Sensor เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจวัดค่าความเข้มของฟลั๊กซ์แม่เหล็ก หรือปริมาณของเส้นแรงแม่เหล็กที่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะทาง ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดปริมาณของเส้นแรงแม่เหล็กที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ เพื่อตรวจจับการเปิด-ปิดของฝาเคส กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่เราปิดฝาเคส หน้าจอก็จะดับไปเองโดยอัตโนมัติ หรือจริงๆแล้วก็คือเป็นการเข้าสู่ Sleep Mode นั่นเอง
และเมื่อใดก็ตามที่เราเปิดฝาเคสขึ้นมา หน้าจอก็จะติดสว่างขึ้นมาอีกครั้งโดยอัตโนมัติ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการช่วยประหยัดพลังงานและถนอมหน้าจอไปในตัวด้วย สำหรับฝาเคสซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมนั้น การตอบสนองต่อการทำงานของ Hall Sensor จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการออกแบบฝาเคสให้เหมาะสมกับสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นด้วย
เรื่องราวของเซนเซอร์ต่างๆ บนสมาร์ทโฟน ในเบื้องต้นขอหยิบยกมาพูดถึงแต่เพียงเท่านี้ ซึ่งจริงๆแล้วยังมีที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกมาก รวมถึงเซนเซอร์บนสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่นับวันก็จะยิ่งพัฒนาให้มีความสามารถต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขอบคุณที่ติดตามครับ ^^