ปัจจุบันเมื่อความเร็วเน็ตบ้านและสำนักงานของเมืองไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ จนติดอันดับ Top 10 ของโลกไปแล้ว (worldpopulationreview.com/country-rankings/internet-speeds-by-country) การฝากไฟล์บนคลาวด์ (Cloud storage) แทนการเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเอง ก็เริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น จากที่ยุคแรกๆ นั้นเน้นที่การเอาไฟล์ใหญ่ๆ ไปฝากเพื่อแชร์ไฟล์ให้คนอื่นแทนการส่งอีเมล์ ที่มักจะถูกจำกัดไม่ให้แนบไฟล์ใหญ่ๆ ไปได้ ปัจจุบันก็เริ่มเน้นที่การใช้งานเองด้วยเพื่อประหยัดที่ในการเก็บข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันหันมาใช้ SSD กันแทนฮาร์ดดิสก์ธรรมดา ซึ่งอ่านเขียนข้อมูลได้เร็วกว่ากันนับสิบเท่า แต่ก็มีความจุข้อมูลจำกัดและราคาสูงกว่ามากพอสมควร ดังนั้นไหนๆ ก็ต้องฝากไฟล์บน cloud เพื่อแชร์กันระหว่างหลายคนกันอยู่แล้ว เนื้อที่ก็มีเหลือ เอาไฟล์ที่ต้องใช้ประจำของเราเองไปฝากด้วยเลยดีกว่า SSD ในเครื่องเราจะได้ไม่เต็มเร็วไป แถมยังเป็นการทำแบ็คอัพข้อมูลไปในตัว อีกด้วย
เราเก็บอะไรใน Cloud กันบ้าง?
จากการสำรวจของบริษัทสถิติชื่อดังอย่าง Statista ผู้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปเก็บข้อมูลสารพัดอย่างไว้บนคลาวด์ โดยมี 6 อันดับแรกดังนี้
- ภาพถ่าย อันนี้เห็นได้ชัด เพราะใครๆ ก็ถ่ายรูปด้วยมือถือกันมากมายจนนับไม่ถ้วน แทบจะเรียกว่ามากเกินกว่าจะย้อนดูไหว
- ข้อมูลแบ็คอัพ (ซึ่งน่าจะมาจากการทำแบ็คอัพแบบอัตโนมัติ)
- เพลงและวิดีโอ ซึ่งมักจะกินเนื้อที่ในเครื่องมากมายมหาศาล ในขณะที่เราแค่เรียกดูอย่างเดียว ไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ ดังนั้นเก็บขึ้น cloud ไปก็เรียกดูได้ไม่ยาก
- ข้อมูลเอกสารในการทำงาน อันนี้คือเรื่องปกติ แต่สังเกตว่หลายๆ บริการจะทำการแบ็คอัพไฟล์ในโฟลเดอร์ของ user บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น Documents, Downloads, Pictures และอื่นๆ ให้ด้วย
- รหัสผ่านหรือข้อมูลการ login ต่างๆ ซึ่งถ้าเก็บอบ่างปลอดภัยบน cloud ก็จะทำให้ข้อมูลยังปลอดภัยอยู่ในกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเสียหายหรือสูญหาย
- ข้อมูลทางการเงินต่างๆ ซึ่งต้องการเก็บเพื่อเป็นหลักฐานในระยะยาว
ผู้ให้บริการ Cloud Storage
ผู้ให้บริการปัจจุบันมีมากมายหลายเจ้า ด้วยคุณสมบัติ ราคา และพื้นที่ที่แตกต่างกัน หลายๆ รายมี พื้นที่ฟรีให้ส่วนหนึ่งเมื่อสมัครใช้งานใหม่ เรียกว่าลองใช้ได้โดยยังไม่ต้องจ่าย ถ้าจะใช้มากกว่านั้นถึงจะคิดเงิน บางรายก็เอาบริการนี้ไปผูกกับสินค้า บริการเสริม หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ของตัวเอง เช่น Microsoft Office, iPhone / iPad / Mac, Amazon Prime เป็นต้น โดยรายที่สำคัญๆ ในปัจจุบันก็เช่น
ซึ่งเราจะชวนคุณมารู้จักบริการหลักๆ ที่น่าจะมีคนใช้มากพอสมควรในบ้านเรา ดังนี้
Google Drive
บริการฝากไฟล์ของ Google ที่เปิดมานานกว่าสิบปี มีคนใช้มากมายเป็นอันดับหนึ่งมากกว่า 1 พันล้าน user โดยในช่วงแรกมีบริการให้เก็บรูปภาพที่ความละเอียดต่ำฟรีแบบไม่จำกัดพื้นที่ผ่านแอพ Google Photo ด้วย แถมพื้นที่ฟรีที่ให้ตอนต้นก็มากถึง 15 GB นับว่าป๋ามากกว่าใครๆ แต่ทุกอย่างก็ย่อมมีขีดจำกัด เมื่อไม่นานมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับ Google Drive ตั้งแต่การเปลี่ยนวิธีการแชร์ไฟล์ที่จะไม่รวมเข้ามาในเนื้อที่ drive ของเรา (เป็นแค่ shortcut จะ copy file ออกมาไม่ได้) การยกเลิกพื้นที่ไม่จำกัดสำหรับเก็บรูปความละเอียดต่ำ การยกเลิกพื้นที่เก็บข้อมูลแบบไม่จำกัดสำหรับแอคเคาท์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ และการเปลี่ยนผ่านจากแอพ Backup and Sync บนคอมพิวเตอร์ ไปเป็นแอพชื่อเดียวกับบริการ คือ Google Drive (เสียที)
นอกจากนี้ Google Drive จะรวมอยู่กับแอพต่างๆ เช่น ในบริการ Google Workspace (เสียเงิน) เช่น Google Docs, Google Sheets, Google Slides และอื่นๆ
โดยรวมแล้วนับได้ว่า Google Drive เป็นบริการที่สะดวกและแพร่หลายที่สุด โดยปัจจุบันให้พื้นที่ฟรี 15 GB ส่วนแบบเสียเงินจะรวมอยู่ในบริการ Google One ซึ่งจุดเด่นคือนอกจากพื้นที่เล็ก 100 GB เดือนละ 70 บาท และใหญ่คือ 2 TB และ 5 TB แล้วยังมีขนาดพื้นที่กลางๆ คือ 200 GB ในราคาเดือนละ 99 บาทให้เลือกด้วย
Microsoft OneDrive
บริการที่ออกมาตอนแรกในชื่อ SkyDrive ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบันในปี 2014 (หลังจากมีปัญหาเรื่องเครื่องหมายการค้าของชื่อ Sky กับช่องทีวี Sky UK ของอังกฤษ) ตอนแรกให้พื้นที่มากถึง 15 GB แข่งกับ Google แต่ปัจจุบันลดเหลือแค่ 5GB และแถมมากับบริการ Microsoft 365 แบบรายปีโดยให้พื้นที่ 1 TB ต่อคน ส่วนพื้นที่กลางๆ คือ 100 GB ราคาเดือนละ 69 บาท
จุดเด่นของ OneDrive คือการ integrate กับโปรแกรมชุด Office ชนิดที่บันทึกข้อมูลลง OneDrive ได้เลยโดยไม่ต้องมีไฟล์ในเครื่อง (บริการอื่นที่ทำได้ก็มี Dropbox)
Dropbox
หนึ่งในผู้ให้บริการจัดเก็บไฟล์บน cloud รุ่นบุกเบิกที่ยังยืนหยัดมาได้ถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับต้นๆ มีจุดเด่นในเรื่องความเร็วในการอัพโหลด/ดาวน์โหลดไฟล์ (ถ้าเป็นแบบเสียเงิน) และการ sync และ lock ไฟล์ที่กำลังแก้ไขได้ทั้งบน cloud และในเครือข่าย LAN (มีเฉพาะเวอร์ชั่น Business ซึ่งจัดว่ามีความสามารถค่อนข้างซับซ้อนเทียบกับบริการอื่นๆ แต่ก็มีราคาสูงกว่าชาวบ้านอยู่บ้าง) ส่วนของฟรีให้ที่แค่ 2 GB ส่วนที่คิดเงินเริ่มตั้งแต่พื้นที่ 2 TB ในราคาประมาณเดือนละ 10 USD ใกล้เคียงกับ Google Drive
Apple iCloud
บริการเก็บไฟล์จาก Apple จุดเด่นที่สำคัญคือใช้ในการเก็บข้อมูลแบ็คอัพอัตโนมัติของอุปกรณ์ของ Apple เช่น iPhone / iPad / Mac ทั้งหลาย รวมถึงเก็บรูปภาพและวิดีโอที่ถ่าย นอกจากนี้ยังมีบริการแอพพื้นฐาน เช่น Notes, Calendar และอื่นๆ
iCloud มีพื้นที่ให้ฟรี 5 GB ส่วนที่เกินคิดราคาหลายระดับ เช่น 50 GB, 200 GB, 2 TB ซึ่งคิดราคาตามผู้ใช้ในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน นอกจากนี้ยังถูกนำไปรวมกับบริการอื่นๆ เช่น ฟังเพลงด้วย Apple Music และสตรีมมิ่ง Apple TV+ เรียกว่า Apple One
สรุปว่าใช้บริการไหนดี?
ในส่วนของบริการฟรีนั้น ใครคุ้นเคยอันไหนก็ใช้อันนั้นได้เลย เช่นใครใช้ Gmail ก็จะได้พื้นที่ฟรีของง Google Drive อยู่แล้ว ใครใช้ Microsoft Office ก็จะได้พื้นที่ของ OneDrive อยู่แล้ว หรือใครใช้อุปกรณ์ของ Apple ก็ควรมี iCloud ส่วนที่มีค่าบริการเพิ่มนั้น แต่ละเจ้าก็มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการให้บริการ ทั้งราคา พื้นที่ และอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจะเลือกใช้บริการไหนคงต้องตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ณ เวลานั้นๆ ด้วย ซึ่งเราทำตารางสรุปตามข้อมูลล่าสุด (เมษายน 2565) มาให้ดังนี้