ไม่ว่าจะผ่านมากี่ร้อยกี่พันปี มนุษย์ก็ไม่เคยหยุดที่จะคิดค้นและพัฒนาทุกสิ่งอย่างรอบตัว เป้าหมายหลักก็เพื่อปรับปรุงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น ก่อให้เกิดกระบวนการทางความคิดที่จะสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่เป็นนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อช่วยให้งานที่ทำอยู่บรรลุผลสำเร็จ เมื่อเวลาผ่านไปความรู้ที่ได้จากการสรรค์สร้างสิ่งเหล่านั้นและประสบการณ์ที่สั่งสมมาจะถูกหลอมรวมให้กลายเป็นองค์ความรู้ที่เมื่อถูกถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นใหม่ สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมเหล่านั้นก็จะได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้การทำงานต่างๆ เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยิ่งถ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยจะมาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและระบบการผลิตในแวดวงอุตสากรรมให้แตกต่างไปจากเดิมด้วยแล้วล่ะก็ เราจะเรียกยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับมหันตภัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่รายได้หลักของประเทศมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อทุกๆประเทศต่างพยายามป้องไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเข้ามาภายในประเทศตัวเองด้วยการปิดประเทศไม่ให้คนเข้าออก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยรวมถึงกิจการและธุรกิจต่างๆ อย่างเช่น โรงแรม และสายการบิน ก็ต้องปรับตัว ลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยการปรับลดเงินเดือนบ้าง ปรับลดจำนวนพนักงานบ้าง ผู้ประกอบการบางรายทนฝืนต่อไปไม่ไหวถึงขั้นต้องปิดตัวกันไปก็มีอยู่ไม่น้อย การแพร่ระบาดในประเทศเองก็ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมที่เคร่งขัดขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคนใส่แมสและหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน พร้อมทั้งระดมหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อคนไทยไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน ธุรกิจการค้าต่างๆก็หยุดชะงัก พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ เพราะฉะนั้นตลอด 2 ปีมานี้ ถือเป็นจุดที่ย่ำแย่และตกต่ำที่สุดของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลร้ายต่อคนไทยทั้งประเทศ และนับตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา แม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ออกมามากมายยังคงมีอยู่ แต่สถานการณ์ความรุนแรงจากการติดเชื้อดูเหมือนจะค่อยๆทุเลาลง ภาครัฐก็ผ่อนปรนมาตรการควบคุมต่างๆตามมา จนในที่สุดปัจจุบันต้นปี 2566 สถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย วิถีชีวิตเดิมๆของคนไทยเริ่มกลับมาเป็นปกติ การค้าขายต่างๆเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลายๆประเทศรวมถึงไทยก็เริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาซักพักกว่าทุกๆอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนแต่ก่อนที่โลกจะเผชิญเชื้อไวรัสโควิด-19
เมื่อพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เป็นการพลิกโฉมโลกหรือเป็นการเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิต ความคิด และกระบวนการทำงานต่างๆ ของเราไปอย่างสิ้นเชิงนั้น ปัจจุบันความฉลาดของมนุษย์ได้นำพาโลกของเราให้ก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ The Fourth Industrial Revolution (4IR) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในครั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จับเอาองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ที่ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ, เครื่องจักรกล, ยานพาหนะต่างๆ, ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มาเชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่ายในรูปแบบของ IoT (Internet of Things) โดยให้มีการสื่อสารข้อมูลระหว่างกันหรือสื่อสารข้อมูลกับส่วนกลางที่ใช้ควบคุมได้ ซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในยุคนี้ก็มีมากมาย เช่น 3D Printing, Internet of Things and Connected Device, Cloud and Data Analytics, Cyber-Security, Augmented/Virtual Reality, Robotics and Drones, Blockchain, Simulation, Big data ฯลฯ รวมไปถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI – Artificial Intelligence) และจักรกลเรียนรู้ (ML – Machine Learning) ต่างๆ ที่จะมาช่วยวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาให้กับระบบอัตโนมัติต่างๆแทนมนุษย์ด้วย
การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4 ยุค
ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 นี้ สิ่งที่น่าจับตาไม่ได้มีเพียงแค่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าหากมองย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง 3 ครั้งก่อนหน้านี้ที่ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ 1 ในปี 1784 ที่เป็นยุคของการใช้เครื่องจักรไอน้ำจากพลังงานถ่านหินที่นำไปใช้กับระบบรถไฟและโรงงาน ครั้งที่ 2 ในปี 1870 เป็นยุคของการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานถ่านหินมาใช้ไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมัน กับรถยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 ในปี 1969 ที่เป็นยุคเริ่มต้นของการนำเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางด้านเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อัตโนมัติตามมา สิ่งที่น่าจับตามองคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีนับร้อยปีกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงอุตสาหกรรม แต่ทว่าในครั้งที่ 4 นี้ ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่สิบปีเท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก นั่นเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้เร็ว เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีต่างๆที่จะเกิดขึ้นในยุคนี้ จะได้ไม่ถูก disrupt หรือถูกฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจไปโดยคู่แข่งที่สามารถเรียนรู้ และปรับตัวได้เร็วกว่า นอกจากนี้ด้วยการที่ประเทศไทยยังมีภาคการผลิตเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ ไทยจะต้องฉวยโอกาสเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และเร่งปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีต่างๆที่จะเกิดขึ้นในยุคนี้ เช่น การนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และเร่งผลิตบุคลากรให้มีความพร้อมในทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุค 4IR เป็นต้น