รถ Hybrid แต่ละยี้ห้อ แต่ละรุ่นก็อาจมี mode การทำงานที่แตกต่างกันออกไปวิธีการควบคุมให้เข้า Mode เหล่านั้นก็มีทั้งใช้ปุ่มกด ใช้สวิทช์แบบโยกได้หลายตำแหน่งหรือบาง Mode การทำงานก็ไปรวมเข้ากับเกียร์ แต่โดยรวมแล้วจะมีที่คล้ายๆ กันดังนี้(บางรุ่นอาจมีไม่ครบทุก Mode หรือมีมากกว่า หรือเรียกชื่อแตกต่างจากนี้)
Mode ปกติ (Normal หรือชื่ออื่นๆ เช่น Comfort)
เป็นการทำงานทั่วไปที่จะพยายามรักษาสมดุลระหว่างความคล่องตัวในการขับกับการประหยัดพลังงาน โดยเลือกใช้เครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันให้เองตามความเหมาะสม
Mode ประหยัดพลังงาน (Eco)
เน้นการประหยัดพลังงานเป็นหลัก ซึ่งอาจแลกมาด้วยการขับขี่ที่ตอบสนองช้าไปบ้าง อาจใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามากหน่อย กำลังเครื่องยนต์น้อยหน่อย หรือถ้าเป็นรถ PHEV ก็ใช้เพื่อให้วิ่งได้ระยะไกลขึ้นโดยใช้แบตเตอรี่ล้วน ซึ่งอาจจำกัดอัตราเร่งไม่ให้สูงมากจะได้ไม่เปลืองไฟมากเกินไป
Mode ไฟฟ้าล้วน (EV)
อันนี้คือใช้มอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ไม่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งก็ขึ้นกับว่ามีความจุพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่แค่ไหน ถ้าเป็นรถ HEV แบตเตอรี่เล็กมาก (ความจุใช้งานจริงไม่ถึง 1 kWh) ก็อาจวิ่งใน mode นี้ได้แค่ 1 – 2 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนรถ PHEV ที่แบตเตอรี่ขนาด 5 – 10 kWh ก็น่าจะวิ่งได้ 15 – 30 กิโลเมตรหรือกว่านั้น (บางรุ่นใส่แบตเตอรี่มาให้ขนาดใหญ่ถึง 20 -30 kWh เรียกว่าน้องๆ รถไฟฟ้า BEV จึงวิ่งแบบไฟฟ้าล้วนได้ไกลถึง 100 – 200 กม. ก็มีแต่ก็มีต้นทุนค่าแบตเตอรี่และน้ำหนักที่ต้องแบกไปด้วยเพิ่มขึ้นพอสมควร) ส่วนสมรรถนะของรถก็ขึ้นกับกำลังของมอเตอร์ที่ติดตั้งเป็นหลัก ถ้ามอเตอร์ใหญ่ก็ทำความเร็วได้สูงแต่จะกินไฟมาก ระยะที่วิ่งได้ก็จะสั้นลง ซึ่งใน Mode นี้ถ้าเร่งความเร็วเกินที่กำหนด หรือไฟในแบตเตอรี่หมดก็จะเปลี่ยนมาติดเครื่องยนต์ช่วยอัตโนมัติ
Mode เน้นความแรง (Power)
ใน mode นี้จะเน้นสมรรถนะของรถเป็นหลัก โดยใช้มอเตอร์ร่วมกับเครื่องยนต์แบบเต็มที่ โดยมักจะให้เครื่องยนต์ทำงานตลอดเวลา ซึ่งจะได้ความแรงแต่เปลืองทั้งน้ำมันในถังและไฟฟ้าในแบตเตอรี่
Mode ชาร์จหรือรักษาระดับ % แบตเตอรี่
มักจะมีในรถ PHEV เพราะมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า HEV หากต้องการรักษาระดับไฟฟ้าในแบตเตอรี่หรือเติมให้มากกว่าเดิม ก็จะบังคับให้เครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้นเพื่อปั่นไฟชาร์จเข้าแบตเตอรี่ ผลคือรถมักจะหน่วงและเปลืองน้ำมันมากขึ้น (ไฟฟ้าที่ได้จากการเดินเครื่องยนต์เพื่อปั่นไฟนี้มักจะต้องเปลืองน้ำมันเพิ่มในอัตราที่คิดแล้วแพงกว่าไฟจากการชาร์จด้วยไฟบ้าน หรือแม้แต่จะคิดด้วยอัตราค่าไฟที่สถานีชาร์จก็ตาม) แต่ก็มีประโยชน์ในยามจำเป็น เช่น เมื่อต้องการให้มีไฟในแบตเตอรี่มากพอจะเปิดแอร์ต่อเนื่องได้หลายๆ ชั่วโมงโดยไม่ต้องติดเครื่องยนต์ เช่น กรณีที่คาดว่าจะต้องจอดรอนานๆ หลายชั่วโมงหรือจอดเปิดแอร์นอน
Mode ขึ้นลงทางชัน
โดยมากมักจะทำมาเป็นเกียร์ 1, L หรือ B ซึ่งจะเป็นการทดรอบเครื่องยนต์ให้ต่ำลง(เกียร์ต่ำ) เพื่อให้มีกำลังมากขึ้นในกรณีไต่ขึ้นที่ชันเช่นเดียวกับรถน้ำมันทั่วไป ส่วนมอเตอร์ก็ทำงานเสริมแรงตามปกติ ในทางกลับกันตอนขาลงก็จะเป็นทั้งการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรคและมอเตอร์ก็จะถูกล้อรถปั่นให้หมุนมากรอบขึ้น (เพราะทดรอบน้อย) จึงเกิดการปั่นไฟฟ้าคืนกลับไปชาร์จแบตเตอรี่มากขึ้น และเกิดความหน่วงเพื่อช่วยเบรคมากขึ้นด้วย
ข้อมูลจากหนังสือ : รถไฟฟ้า EV 101
ซื้อได้ที่ : https://www.dplusshop.com/p/608