ระบบเบรกแบบที่สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้ากลับคืนได้นี้ มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง ตั้งแต่ Regenerative Braking หรือ Kinetic Energy Recovery System (KERS) หรืออื่นๆ เช่น ระบบเบรกฟื้นฟูพลังงาน (Recuperative Braking) แต่โดยรวมแล้วคือการเอามอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียวกับที่ใช้ขับเคลื่อนรถนี่แหละ มาปั่นไฟกลับคืนเพื่อชาร์จแบตเตอรี่
ซึ่งตามปกติธรรมชาติในการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้านั้น เมื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปในขดลวด ก็จะเกิดแรงผลักกับสนามแม่เหล็กภายในตัวมอเตอร์ ได้พลังงานกลออกมาเป็นการหมุนล้อ แต่ในทางกลับกันเมื่อไม่เร่งเครื่องแล้ว แต่รถยังวิ่งอยู่ด้วยความเร็วคงที่ (หรือวิ่งเร็วขึ้น เช่นในกรณีลงเขา) ซึ่งล้อจะยังหมุนต่อและมอเตอร์ก็ถูกบังคับให้หมุนตามไปด้วย ขดลวดในมอเตอร์ก็จะหมุนตัดสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นแทน ซึ่งการหมุนนี้จะถูกดึงหรือหน่วงให้ช้าลงจากสนามแม่เหล็กด้วย ทำให้เกิดการเบรคแบบอ่อนๆ ขึ้น ที่จะช่วยชะลอความเร็วของรถได้ ถึงแม้อาจไม่ถึงขั้นทำให้รถหยุดสนิทก็ตาม และยังได้กระแสไฟฟ้าจ่ายคืนกลับมาชาร์จแบตเตอรี่เก็บไว้ด้วย ซึ่งด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันประมาณว่าระบบนี้จะได้พลังงานคืนมาถึงกว่า 50% ของพลังงานจลน์ทั้งหมดที่สูญเสียไปในระหว่างการเบรกเพื่อลดความเร็วแต่ละครั้งทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ระบบเบรกแบบนี้มีมาเพื่อช่วยเสริมการทำงาน แต่ไม่ได้ทดแทนระบบเบรคไฮดรอลิคส์ธรรมดา (เหมือนในรถใช้น้ำมันทั่วไป) ที่ยังจำเป็นต้องมีเพื่อใช้หยุดรถให้สนิททันเวลาในกรณีฉุกเฉิน แต่นอกจากจะช่วยลดความเร็วแล้ว ระบบเบรกแบบนี้ยังช่วยลดความถี่ที่ผู้ขับขี่จะต้องเหยียบเบรค หรือความถี่ที่กลไกเบรคไฮดรอลิคส์จะต้องทำงานจริงๆ ทำให้กลไกและผ้าเบรกสึกหรอน้อยลงกว่าปกติด้วย
ข้อมูลจากหนังสือ : รถไฟฟ้า 𝗘𝗩 𝟭𝟬𝟭
dplusshop : https://www.dplusshop.com/p/608
shopee : https://bit.ly/3iSLso1
lazada : https://bit.ly/3FMnKTg