ยังไม่อ่านเล่มนี้ อย่าเพิ่งจองรถไฟฟ้า
ช่วงนี้กระแสข่าวการเปิดตัวรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือ EV (Electric Vehicle) รุ่นใหม่ๆ พากันออกมาเป็นแถว ต้อนรับมาตรการส่งเสริมด้วยการลดภาษีนำเข้าของรัฐบาล ทำให้ใครหลายคนที่กำลังจะเปลี่ยนรถใหม่หันมาสนใจรถ EV กันมากขึ้น และคำถามยอดนิยมก็มักจะไม่พ้นที่ว่า รถไฟฟ้านี่ถ้าชาร์จแบตเตอรี่เต็ม (100%) ครั้งนึงนี่สามารถวิ่งได้ไกลพอหรือยัง? คุ้มกว่ารถน้ำมันมั้ย?
คำถามประมาณนี้ตอบให้ถูกใจได้ยากที่สุด เพราะคำว่า “พอ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคน “พอ” คือแค่ไปกลับที่ทำงาน เลยไปรับส่งลูกไปโรงเรียน แวะจ่ายตลาด แล้วกลับบ้าน บางคนพอคือไปกลับกรุงเทพ-พัทยา หรือ กรุงเทพ- หัวหิน โดยไม่ต้องจอดชาร์จ หรือบางคน “พอ” คือฉันต้องวิ่งกรุงเทพเชียงใหม่ได้โดยไม่ต้องจอดชาร์จเลยก็มี เอาเป็นว่าเราจะมาลองพยายามตอบคำถามนี้ในเชิงวิเคราะห์กันดีกว่าRange ของรถ EV – มาตรฐาน NEDC นี่เชื่อได้แค่ไหน
รถ EV ส่วนใหญ่ที่ขายหรือกำลังจะเปิดตัวกันตอนนี้ จะบอกระยะทางโดยประมาณที่วิ่งได้เมื่อชาร์จเต็ม หรือ “range” อยู่ที่ราวๆ 350 – 500 กม. โดยมักอ้างอิงผลการทดสอบของฝั่งยุโรปตามมาตรฐาน NEDC (New European Driving Cycle) ที่ทดสอบกับสภาพถนน สภาพอากาศ และลักษณะการขับขี่ในยุโรป โดยผลทดสอบนี้จะวัดทั้งระยะทางที่ได้ ค่ามลพิษที่ปล่อยออกมา ฯลฯ
การทดสอบแบบ NEDC นี้มีมาตั้งแต่ยุคก่อนปี 2000 คือเริ่มเมื่อปี 1970 และอัพเดทล่าสุดปี 1997 ตอนแรกใช้การทดสอบระยะทางที่วิ่งได้ของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และนำมาใช้กับรถเครื่องดีเซล รถไฮบริด และรถไฟฟ้า EV ด้วย แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีระเบียบวิธีการทดสอบที่ยังไม่รัดกุมพอ เช่น ใช้จำนวนครั้งที่ทดสอบน้อยเกินไป และสำหรับรถ EV มักจะให้ระยะทางที่เกินกว่าจะทำได้ในการขับขี่จริงไปมากถึง 25-30% หรือบางสำนักก็บอกว่ามากกว่านั้น
แปลง่ายๆ ว่าถ้าจะขับให้ได้ตามตัวเลข NEDC มักต้องขับด้วยความพิถีพิถันประมาณนึง เช่น ขับด้วยความเร็วคงที่ซึ่งไม่เร็วนัก เช่น ไม่เกิน 80-100 กม./ชม. ขับนิ่มๆ ไม่ออกตัวแรง (เปิดโหมด Eco) ไม่เบรกกระทันหันบ่อยๆ นั่นแปลว่ารถต้องไม่ติดมากนักด้วย และที่สำคัญก็คือ ไม่เปิดแอร์! ดังนั้นรถที่เคลมว่าวิ่งได้ 350 กม. ถ้ามาขับแบบไม่ระวังมาก ชาร์จแบต 100% แล้วอาจได้ระยะแค่ 75-80% ของระยะที่เคลม คือ 260-280 กม. เท่านั้น
ดังนั้นจึงมีการพัฒนามาตรฐานใหม่ซึ่งให้ตัวเลขที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น (หรือ “เว่อร์” น้อยกว่า) โดยเป็นของที่ริเริ่มจากทางยุโรปเหมือนกัน คือ WLTP หรือ Worldwide harmonised Light vehicle Test Procedure ซึ่งมาตรฐานล่าสุดออกมาในปี 2015 โดยหลายสำนักให้ราคาตัวเลขที่ทดสอบได้จะว่าอาจจะ (ยังคง) สูงกว่าตัวเลขขับจริงทั่วๆ ไปแค่ 10-20% เท่านั้น
ส่วนทางฝั่งอเมริกาก็มีมาตรฐาน EPA ที่ออกโดยหน่วยงานชื่อเดียวกันคือ US Environmental Protection Agency (หรืออีกชื่อคือ FTP-75 โดย FTP คือ Federal Test Procedure หรือ “มาตรฐานการทดสอบของรัฐบาลกลาง”) ที่ใช้สภาพการขับขี่ตามแบบถนนในอเมริกา ซึ่งมีถนนไฮเวย์ หรือฟรีเวย์ยาวๆ ระหว่างเมือง ผสมกับในเมือง มาตรฐานนี้อัพเดทล่าสุดเมื่อปี 2008 โดยจะออกมาเป็นทั้ง range และ MPGe (Mile Per Gallon equivalent สำหรับเทียบกับความสิ้นเปลืองของรถใช้น้ำมันด้วย) แต่ตัวเลขระยะทางหรือ range ที่ได้ก็มักจะต่ำกว่า WLTP ลงไปอีกหน่อย
สามมาตรฐานแล้วยังไม่พอ! สำหรับตลาดจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกของรถ EV ในปัจจุบัน ยังมีมาตรฐานใหม่คือ CLTC (China Light duty vehicle Test Cycle) ที่พยายามสะท้อนการใช้งานของผู้ขับขี่และสภาพแวดล้อมในจีน โดยมีการควบคุมเงื่อนไขการทดสอบอย่างรัดกุม (แต่มักจะให้ตัวเลข range ออกมาสูงกว่า NEDC ขึ้นไปอีก ?!?)
ดังนั้นเวลาจะเลือกซื้อรถ EV ตอนดูระยะทางที่เค้าเคลมว่าวิ่งได้ ก็ต้องดูด้วยว่าทดสอบตามมาตรฐานตัวไหน NEDC, WLTP หรือ EPA ซึ่งบางรายก็ยังเคลมตาม NEDC อยู่ เพราะมันดูไกลดี แต่ก็มีที่เริ่มหันมาใช้ตัวเลขของ WLTP กันบ้างแล้ว ส่วนผู้ผลิตในจีนในอนาคตอาจจะไปใช้ตัวเลข CLTC กันมากขึ้น แต่ก็ต้องดูว่าเวลานำเข้ามาขายในเมืองไทยแล้วจะอ้างตัวเลขของมาตรฐานไหน
ระดับพลังงานในแบตเตอรี่ที่ใช้งานจริงไม่ใช่ 0-100%
อีกเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์กันก็คือ จากระยะทางที่ทดสอบได้ตามมาตรฐานในหัวข้อที่แล้ว ซึ่งมักจะเป็นค่าจากการชาร์จเต็ม 100% วิ่งจนแบตเหลือ 0% แต่ในการใช้งานจริงเราคงไม่กล้าปล่อยให้ระดับแบตเตอรี่เหลือต่ำๆ มาก เพราะต้องมาลุ้นว่าจะหาที่ชาร์จทันมั้ย หาเจอแล้วจะว่างให้ใช้ได้มั้ย หรือจะแบตหมดกลางทางจนต้องเรียกยานแม่ (รถสไลด์) ก่อน ซึ่งเอาเป็นว่าถ้าขับไปเรื่อยๆ จนแบตเหลือซัก 15% ก็น่าเริ่มตื่นเต้นกันแล้ว
ในทางกลับกันผู้ผลิตรถก็ไม่ค่อยแนะนำให้ชาร์จแบบเร็ว (DC Fast Charge ที่ใช้เวลาชาร์จจากตู้ใหญ่ๆ ชาร์จจนเต็มได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง) เกินระดับ 80-85% บ่อยๆ เพราะช่วงที่ชาร์จเกินนั้นขึ้นไปไฟจะเข้าช้ากว่าตอนชาร์จช่วงกลางๆ มาก และจะเสียเวลารอนานกว่าปกติ (ไม่เหมือนรถใช้นำ้มันที่เติมเต็มถังได้ง่ายๆ อันนี้ถ้าเปรียบเทียบก็จะได้อารมณ์ประมาณว่า สมมติเติมค่อนถัง 80% ใช้สามนาที แต่เติมอีก 20% สุดท้ายต้องรอเพิ่มอีกสามนาที) รวมทั้งถ้าทำบ่อยๆ อาจทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่สั้นลงด้วย
เมื่อถูกจำกัดทั้งค่าสูงสุดและต่ำสุดในการใช้งานจริง จึงเหลือช่วงระดับพลังงานที่ใช้ประจำได้ตั้งแต่ราวๆ 15-85 % หรือคิดเป็นราว 70% ของความจุแบตเตอรี่ทั้งหมดเท่านั้น (ดูรูปประกอบ) ทำให้ระยะทางที่ใช้งานจริงลดจาก 280 กม. ที่คำนวณแบบใช้พลังงานตั้งแต่ 0-100% ในหัวข้อที่แล้วลงไปอีก คือเหลืออยู่ประมาณ 280 กม. x 70% = 196 หรือประมาณ 200 กม. เท่านั้นปล. ถ้าใครขับได้ระยะทางมากกว่านี้เราก็ไม่ดราม่ากันนะ เพราะแสดงว่าคุณขับรถแบบประหยัดพลังงานได้เก่ง และสภาพการจราจรในเส้นทางต้องเอื้ออำนวยด้วย หรือใครจะชาร์จแบบช้าแต่ให้เต็ม 100% ทุกวัน เพื่อให้ขับได้สบายใจ ก็จะได้มาอีก 15% สุดท้าย (85-100%) ทำให้ขับได้ไกลขึ้นอีกหลายสิบกิโลเมตรอยู่
วิ่งได้ 200+ กิโลเมตร แล้วคุ้มมั้ย?
ตัวเลขระยะทาง 200 กม. อาจรู้สึกว่าน้อย แต่สำหรับการใช้งานประจำวันไปกลับระหว่างที่ทำงานกับบ้าน โดยไม่เดินทางไกลๆ แค่นี้ก็นับว่าเกินพอแล้วสำหรับคนส่วนมาก (ใครขับรถไปกลับที่ทำงานเกินวันละ 100 กม. บ้าง?) ถ้าคิดถึงความประหยัดที่ได้เทียบกับรถน้ำมัน ที่เติมเต็มถังยุคน้ำมันแพงถึงลิตรละประมาณ 40 บาทแบบนี้ เติมเต็มถังทีนึง 40 ลิตร ก็ต้องจ่ายหลักพันบาทขึ้นไป สมมติเติม 1,600 บาท และคิดเฉลี่ยที่ระยะทาง 16 กม./ลิตร ก็จะวิ่งได้ราว 640 กม. ก็ตกกิโลเมตรละ 2.50 บาท
ส่วนรถไฟฟ้าปัจจุบันมีความจุแบตเตอรี่ประมาณ 50 หน่วยไฟฟ้า (คือหน่วยหรือ Unit ที่การไฟฟ้าคิดเงินเราในบิลที่มาแต่ละเดือนนั่นเอง หรือศัพท์เทคนิคจริงๆ เรียกว่า กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ kWh) ถ้าชาร์จที่บ้านจนเกือบเต็ม อาจเสียค่าไฟแค่ 100-200 บาทเศษๆ เท่านั้น แล้วแต่ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านว่าเป็นแบบธรรมดา (คิดค่าไฟสูงสุดหน่วยละประมาณ 4.4 บาท) ชาร์จ 50 หน่วยก็เสีย 220 บาท
ถ้าเป็นมิเตอร์แบบ TOU (Time of Use คือคิดค่าไฟตามช่วงเวลาที่ใช้) ซึ่งคิดหน่วยละประมาณ 5.8 บาท ในช่วงกลางวันที่ธุรกิจและอาคารต่างๆ ใช้ไฟฟ้ามาก คือระหว่าง 9:00 – 22:00 น. วันทำงาน จันทร์-ศุกร์ ส่วนกลางคืนตั้งแต่ 22:00 – 9:00 น. ของวันจันทร์ – ศุกร์ และทั้งวันของวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะคิดแค่หน่วยละ 2.6 บาท ดังนั้นถ้าชาร์จ 50 หน่วย เต็มแบตเตอรี่ในช่วงกลางคืน ก็เสียประมาณ 50 x 2.6 = 130 บาท เท่านั้น
ดังนั้นถ้าคิดว่ารถ EV วิ่งโดยใช้พลังงาน 100% ได้ระยะทางจริง 280 กม. คำนวณค่าไฟฟ้าออกมาแล้ว ถ้าค่าไฟหน่วยละ 2.6 บาท ก็ตกกิโลเมตรละ 130 / 280 = 0.46 บาท ถ้าค่าไฟหน่วยละ 4.4 บาท ก็ตกกิโลเมตรละ 220 / 280 = 0.79 บาท คิดต่อระยะทางที่ได้แล้วยังประหยัดค่าพลังงานมากกว่ารถนำ้มันประมาณ 3-5 เท่าทีเดียว
ส่วนกรณีไปชาร์จแบบเร็วตามสถานีชาร์จ อาจโดนคิดค่าไฟสูงถึงหน่วยละ 6.50 บาท ถ้าชาร์จเต็ม 100% ก็จะเสีย 325 บาท ซึ่งยังตกกิโลเมตรละ 1.16 บาท ซึ่งก็ยังถูกกว่าค่าน้ำมันเกิน 2 เท่าอยู่ดี
นอกจากความคุ้มค่าในเรื่องของค่าพลังงานแล้ว ยังมีค่ารถหรือราคาที่ซื้อมา ที่มีแนวโน้มจะถูกกว่าหรือแทบไม่ต่างจากรถน้ำมันในขนาดใกล้เคียงกัน ด้วยผลจากมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลที่ทำให้รถไฟฟ้าลดราคาขายลงมาคันละ 1-2 แสนบาทจากราคาของปีที่แล้ว โดยเริ่มจากสองค่ายจีนคือ MG และ Great Wall Motor ที่พร้อมลงนามข้อตกลงลดภาษีกับรัฐบาล (การจะลดภาษีได้ มีเงื่อนไขว่าต้องมีการประกอบรถดังกล่าวในประเทศจำนวนสองเท่าของคันที่ได้ลดภาษีด้วย ไม่ใช่แค่นำเข้ามาขายอย่างเดียว)
ส่วนในเรื่องของการบำรุงรักษา ก็มีการศึกษามากมายถึงค่าใช้จ่ายโดยรวม หรือ Total Cost of Ownership (TCO) ทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องนำ้มันเครื่อง (ที่รถไฟฟ้าไม่มี) ระบบหม้อน้ำระบายความร้อน (รถ EV ยังต้องมีเพื่อระบายความร้อนของมอเตอร์และแบตเตอรี่ แต่ก็น้อยกว่าความร้อนจากเครื่องยนต์) รวมถึงอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนตามความสึกหรอในการใช้งาน ซึ่งเครื่องยนต์มีมากชิ้นกว่าหลายสิบเท่า ฯลฯ รถไฟฟ้าจะถูกกว่ามาก ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ยาง เครื่องปรับอากาศ ช่วงล่าง และอื่นๆ ก็น่าจะใกล้เคียงกัน
สรุปว่าน่าใช้มั้ย?
จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ใครที่กำลังมองหารถ EV อยู่ ถ้าคุณใช้งานวันละไม่เกิน 200 กม. ก็สามารถกลับมาจอดชาร์จที่บ้านตอนกลางคืนจนเต็มได้ (ใช้ระบบชาร์จแบบช้าหรือ Slow Charge ใช้เวลาราว 7-12 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ต้องติดตั้งตู้ชาร์จและขอใช้มิเตอร์แบบ TOU ด้วย ไม่ใช่ใช้แค่สายชาร์จฉุกเฉินที่แถมมากับรถแล้วเสียบปลั๊กเอา อันนั้นเรียกแบบช้าสุดๆ บางทีต้องใช้เวลา 15-20 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น) เช้าก็ขับออกไป เย็นก็กลับมาชาร์จที่บ้าน แบบนี้ก็จะคุ้มสุดๆ
ส่วนใครที่ต้องเดินทางไกลหน่อย หากในเส้นทางที่ผ่านมีสถานีชาร์จแบบเร็ว (DC Fast Charge) ให้แวะชาร์จเกือบเต็มในเวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงได้ ก็จะสะดวกและประหยัดมากเช่นกัน เพียงแต่อาจต้องใช้การวางแผนล่วงหน้า หาตำแหน่งสถานีชาร์จที่อยู่ในเส้นทาง ตลอดจนลงแอพของสถานีชาร์จค่ายนั้นๆ ในมือถือให้พร้อมใช้และตัดเงินหรือบัตรเครดิต (แอพใครแอพมัน มีกันหลายเครือข่ายสถานี) และกดจองเวลาชาร์จล่วงหน้าให้สอดคล้องกับแผนการเดินทาง เท่านี้ก็จะสามารถเดินทางไกลได้อย่างประหยัดสุดๆ เหมือนที่มีคนทำวิดีโอรีวิวการเดินทางไปที่ต่างๆ ทั่วเมืองไทยด้วยรถ EV ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ หลายสิบคลิปกันแล้ว
อย่างที่บอกตอนต้นว่า “พอ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นหากใครสนใจรถไฟฟ้า EV ก็คงต้องตอบคำถามว่า ในการใช้งานของคุณนั้น range จริงที่ได้จากการชาร์จแต่ละครั้งของรถคันที่สนใจ อยู่ในช่วงที่คุณใช้งานได้สะดวกในแต่ละวันหรือไม่ หรือความประหยัดที่ได้ คุ้มกับความสะดวกที่อาจลดลงนิดหน่อยจากการวิ่งหาสถานีชาร์จระหว่างทางหรือไม่ ถ้าคำตอบของคุณคือ “ใช่” ก็แสดงว่าถึงเวลาที่คุณจะซื้อรถ EV แล้ว
แต่ถ้าคุณยังอยากจะได้รถที่ ขับไปไหนเมือ่ไหร่ก็ได้ ไม่ต้องวางแผนมาก แต่อยากประหยัดค่าน้ำมันลงมาหน่อย รถ Hybrid ที่ใช้เครื่องยนต์ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า (HEV หรือ PHEV) ก็น่าจะเป็นคำตอบสำหรับคุณ เพราะการมีแบตเตอรี่และมอเตอร์ช่วยนั้นทำให้ลดความสิ้นเปลืองน้ำมันไปได้มากพอสมควร แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาค่าตัวของรถ และค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสองระบบ ที่อาจจะสูงกว่ารถที่ใช้ระบบเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าล้วนๆ หรือรถน้ำมันล้วนๆ ก็ตามขอให้โชคดีในการตัดสินใจเลือกรถของคุณครับ
[เนื้อที่โฆษณา]
ขอแนะนำหนังสือ “รถไฟฟ้า EV 101” สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องรถไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยสำนักพิมพ์ โปรวิชั่น จองได้ที่เพจนี้ #รถve101
ฝากกดติดตามแฟนเพจ Provision
Website : www.provision.co.th
IG : provision1991
#PROVISION#provisionbook#รถยนต์ไฟฟ้า#รถEV#รถยนต์ไฟฟ้า101#รถVE101