นับวันอุปกรณ์สมาร์ทโฟนยิ่งมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือเป็นได้ทุกอย่างทั้งคุยโทรศัพท์ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ ทำงาน ท่องเน็ตฯ พูดคุยสนทนาบนโลกโซเชียลฯ เป็นอุปกรณ์ช่วยนำทาง ฯลฯ ซึ่งถ้าเราจำเป็นต้องพกพาไปไหนต่อไหนและใช้งานมันตลอดทั้งวันด้วยแล้ว ถ้าไม่มีโอกาสหรือไม่มีที่ให้ชาร์จไฟ แน่นอนว่าคุณคงหัวเสียไม่น้อยหากจู่ๆแบตเตอรี่ต้องหมดลงกลางคัน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับตัวช่วยอย่างแบตเตอรี่สำรองหรือ Power Bank กันดีกว่า
แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) คืออะไร?
มันก็คืออุปกรณ์ที่ภายในเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้สำรองไฟเก็บเอาไว้ ซึ่งตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็กเหมาะแก่การพกพาติดตัวไปยังที่ไหนๆ และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนที่ใช้อยู่ใกล้หมดหรือหมดไปแล้ว ก็สามารถหยิบเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้ขึ้นมาเชื่อมต่อ เพื่อชาร์จไฟให้กับสมาร์ทโฟนของเราจนแบตเตอรี่กลับมาเต็มอีกครั้งได้
สำหรับเจ้าแบตเตอรี่สำรองหรือที่เรามักเรียกกันจนติดปากว่า Power Bank (พาวเวอร์แบงค์) นี้ ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ในท้องตลาดก็มีให้เลือกใช้อยู่มากมายหลายยี่ห้อ หลายขนาดความจุ ดังนั้นเรามาดูกันสิว่าหากเราจะต้องซื้อหามาไว้ใช้คู่กายซักตัวให้คุ้มค่าเงินที่ต้องเสียไป เราจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้างก่อนการพิจารณาเลือกซื้อ
เลือกซื้ออย่างไร?
ชนิด และความจุของแบตเตอรี่
สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงต่อการพิจารณาเลือกซื้อมากที่สุด นั่นก็คือ ชนิดและความจุของแบตเตอรี่ ปัจจุบันชนิดของแบตเตอรี่ที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) มักเป็นชนิด Li-ion (ลิเธียมไอออน) และ Li-po (ลิเธียมโพลีเมอร์) แบบเดียวกับแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟน โดยถึงแม้ Li-po จะมีราคาแพงกว่า Li-ion แต่จุดเด่นที่สำคัญของ Li-po คือ มีอัตราการจ่ายกระแสไฟที่สูงกว่ามาก ซึ่งทำให้ชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนได้เร็ว ส่วนข้อดีข้อเสียอื่นๆ ไว้เดี๋ยวผมจะนำข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ดูในครั้งต่อๆไปนะครับ
ส่วนในเรื่องความจุของแบตเตอรี่นั้นถือได้ว่ามีความสำคัญมาก เพราะต้องนำมาพิจารณาถึงก่อนเป็นลำดับแรกก่อนการเลือกซื้อ ว่าความจุของแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ที่จะซื้อใช้นั้น มีความจุไฟเพียงพอสำหรับชาร์จให้กับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่เราใช้จนเต็มได้มากสุดกี่ครั้งหรือกี่รอบ ซึ่งมีหลักการคำนวณหรือวิธีการคิดง่ายๆ ดังนี้
ก่อนอื่นข้อมูลที่เราต้องทราบเป็นเบื้องต้นไว้ก่อนคือ ความจุของแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนที่เราใช้ และ ความจุของแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ที่เราคาดว่าจะซื้อมาใช้ ในที่นี้สมมติว่าสมาร์ทโฟนที่เราใช้เป็น iPhone 6 ซึ่งมีความจุของแบตเตอรี่ 1,810 mAh (mAh คือ มิลลิแอมป์-ชั่วโมง) และแบตเตอรี่สำรองที่เลือกใช้มีความจุ 11,000 mAh เราสามารถคิดจำนวนครั้งหรือรอบที่เมื่อชาร์จไฟให้แบตเตอรี่สำรองจนเต็มแล้ว สามารถพกพาเพื่อนำไปชาร์จแบตเตอรี่ให้กับ iPhone 6 ได้โดย
ค่าความจุของแบตเตอรี่สำรองที่ต้องสูญเสียพลังงานอันเนื่องมาจากการคายประจุคิดเป็น 30%เพราะฉะนั้นความจุคงเหลือ (11,000 mAh x 70) / 100 = 7,700 mAh
นำความความจุคงเหลือของแบตเตอรี่สำรองที่ได้ มาหารด้วยความจุของแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนที่เราใช้ นั่นคือ 7,700 / 1,810 = 4.25 รอบ นั่นหมายความว่า แบตเตอรี่สำรองขนาดความจุ 11,000 mAh เมื่อถูกชาร์จไฟจนเต็ม สามารถพกพาเพื่อนำไปใช้ชาร์จไฟให้กับ iPhone 6 จนเต็มได้ทั้งหมดประมาณ 4 รอบ หรือ 4 ครั้ง นั่นเอง
ในทางกลับกันหากเราต้องการพกพาเพื่อนำไปใช้ชาร์จไฟให้กับ iPhone 6 จนเต็มได้อย่างน้อย 7 รอบ หรือ 7 ครั้ง เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกซื้อแบตเตอรี่สำรองที่มีความจุเท่าไร วิธีคิดคือ ความจุของแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนที่เราใช้ x จำนวนรอบหรือครั้งที่ต้องการให้สามารถชาร์จไฟได้ นั่นคือ 1,810 x 7 = 12,670 mAh เพราะฉะนั้นความจุของแบตเตอรี่สำรองที่เลือกซื้อควรมีขนาดประมาณ 12,670 x (100 / 70) = 18,100 mAh (แนะนำ 20,000 mAh ขึ้นไป)
อัตราการคายประจุของแบตเตอรี่
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่องความจุของแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) นั่นก็คือ อัตราการปลดปล่อยพลังงานหรืออัตราการคายประจุของแบตเตอรี่สำรองไฟ เนื่องจากเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับแบตเตอรี่ที่เมื่อได้รับการชาร์จไฟจนเต็ม หลังจากถอดปลั๊กเพื่อพกติดตัวไปในที่ไหนๆ ระหว่างนั้นแบตเตอรี่สำรองไฟจะค่อยๆคายประจุทิ้งออกทีละน้อย ซึ่งแบตเตอรี่ที่ดีควรมีการคายประจุที่น้อยมากๆ เพื่อให้เก็บรักษาไฟในแบตเตอรี่ไว้ให้ใช้งานได้นานและเพียงพอ ซึ่งอัตราการคายประจุของแบตเตอรี่สำรองไฟแต่ละยี่ห้ออาจไม่เท่ากัน ดังนั้นในเบื้องต้นอาจต้องอาศัยการพิจารณาเลือกดูที่ยี่ห้อดังๆหรือได้รับความนิยมเป็นหลัก อาทิ Sanyo, Power Rocks และ Yooboa เป็นต้น
อัตราการชาร์จไฟ และจ่ายไฟของตัวแบตเตอรี่
เรื่องต่อมาที่ควรต้องคำนึงถึง นั่นก็คือ อัตราการชาร์จไฟและจ่ายไฟของตัวแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ซึ่งก็สำคัญไม่น้อย เพราะคงไม่มีใครอยากรอชาร์จไฟให้กับตัวแบตเตอรี่สำรองเป็นเวลานานๆ หรือใช้เวลาหลายๆชั่วโมงเพื่อชาร์จไฟจากแบตเตอรี่สำรองให้กับตัวสมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้นเวลาเลือกใช้ให้เราพิจารณาจากขนาดของกระแสไฟเข้า-ออกที่ระบุไว้ที่พอร์ตของตัวอุปกรณ์หรือที่ข้างกล่อง ดังนี้
- Input : DC 5.0V – 1000 mA หมายถึง เสียบไฟบ้านเพื่อชาร์จกระแสไฟเก็บเข้าไปไว้ตัวแบตเตอรี่สำรองด้วยอัตราเร็วสูงสุด 1,000 mA หรือ 1 Amp ต่อ 1 หน่วยเวลา ซึ่งถือเป็นความเร็วที่ค่อนข้างช้าเพราะถ้ายิ่งแบตเตอรี่สำรองมีความจุสูงๆอย่าง 10,000 – 20,000 mAh ด้วยแล้ว เรียกได้ว่าต้องเสียบชาร์จทิ้งไว้ยาวเช้าจรดเย็นกันเลยทีเดียว ถ้าจะให้เร็วก็ต้องหันไปมองรุ่นที่มี Amp สูงกว่านี้ เช่น 2,100 mA หรือ 2.1 Amp เป็นต้น แต่ก็แน่นอนว่าต้องมีราคาที่แพงขึ้นตามไปด้วย
- Output 1 : DC 5.0V – 2100 mA หมายถึง (เป็นช่องจ่ายไฟช่องที่ 1) จ่ายไฟจากแบตเตอรี่สำรองให้กับตัวอุปกรณ์สมาร์ทโฟนด้วยอัตราเร็ว 2,100 mA หรือ 2.1 Amp ต่อ 1 หน่วยเวลา ซึ่งถือเป็นความเร็วที่เร็วมาก และนั่นจะทำให้เราสามารถชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนของเราได้เต็ม ภายในเวลาอันรวดเร็วนั่นเอง แต่ถ้า Amp น้อยกว่านี้ นั่นก็หมายถึง ต้องใช้เวลาในการชาร์จไฟให้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนนานขึ้น
- Output 2 : DC 5.0V – 1000 mA หมายถึง (เป็นช่องจ่ายไฟช่องที่ 2) ซึ่งจ่ายไฟให้กับตัวอุปกรณ์ด้วยอัตราเร็วเพียง 1,000 mA หรือ 1 Amp ต่อ 1 หน่วยเวลา นั่นเอง ปกติแล้วช่องจ่ายไฟขนาด 1 Amp นี้ สามารถชาร์จสมาร์ทโฟนรุ่นทั่วๆไปที่มีความจุไฟน้อยๆได้ แต่บางกรณีอาจไม่สามารถชาร์จสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มีความจุไฟมากๆได้
สิ่งที่ควรคำนึงถึงเพื่อการชาร์จไฟจากแบตเตอรี่สำรองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกเหนือจากการเลือกซื้อแบตเตอรี่สำรองและเลือกใช้พอร์ตที่ถูกต้องแล้ว สายที่ใช้สำหรับชาร์จไฟให้กับตัวอุปกรณ์ก็มีส่วนสำคัญ เพราะถ้าเราเลือกใช้สายที่มีคุณภาพต่ำ, สายชำรุดหรือหักใน ฯลฯ มักจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นบนสายชาร์จ ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ชาร์จไฟได้ช้าและสิ้นเปลืองพลังงาน ดังนั้นจึงควรเลือกใช้สายชาร์จที่มีคุณภาพและไม่ชำรุด
คุณสมบัติพิเศษบางประการ
คุณสมบัติพิเศษที่ว่านี้ก็อย่างเช่น แบตเตอรี่สำรองบางรุ่นบางยี่ห้อ จะมีไฟบอกสถานะหรือมีตัวเลขบอกพลังงานที่เหลือเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยให้เราทราบถึงสถานะการทำงานในขณะนั้น หรือพลังงานที่เหลือที่สามารถชาร์จได้ อีกทั้งแบตเตอรี่สำรองบางรุ่นบางยี่ห้อ อาจจะเริ่มชาร์จทันทีเมื่อเสียบสาย แต่ในบางรุ่นจะมีปุ่มเปิด/ปิดมาให้ ซึ่งหลังจากเสียบสายก็จำเป็นที่จะต้องกดปุ่มก่อนถึงจะเริ่มชาร์จไฟให้
นอกจากนี้แบตเตอรี่สำรองบางรุ่นบางยี่ห้ออาจจะมีคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถเป็นอะแดปเตอร์ชาร์จไฟให้ตัวเองไปพร้อมๆกับจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์อื่นได้ด้วย แต่บางแบบขณะชาร์จไฟให้ตัวเองอาจไม่สามารถจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์อื่นได้ ต้องยกเลิกการชาร์จไฟให้ตัวเองก่อน ถึงจะจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์อื่นได้ เป็นต้น
ราคา
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่องของราคา ที่ปัจจุบันถ้าเป็นยี่ห้อดังๆรุ่นความจุไม่เกิน 10,000 mAh สนนราคาก็ประมาณ 1-2 พันบาท แต่ถ้าเป็นรุ่นอื่นที่มีความจุเกิน 10,000 mAh ขึ้นไป ราคาก็อาจสูง 2-3 พันบาท และถ้ายิ่งรับ-จ่ายไฟได้มากกว่า 1.0 Amp ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก การรับประกันก็มักจะอยู่ราวๆ 1-2 ปี ส่วนคุณภาพในเรื่องของการคายประจุไฟฟ้า ยิ่งถ้าคายประจุได้น้อยก็จะยิ่งมีไฟเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้มากและยาวนานขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นตรงนี้ก็ให้พิจารณาเลือกดูยี่ห้อที่ดังๆหรือคนมักนิยมใช้กันเป็นหลัก
เครดิตภาพจาก Twitter.com