NAS หรือ Network Attached Storage เป็นอุปกรณ์ที่ใช้บริหารและจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายฯ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ได้รับอนุญาตทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกเครือข่ายฯ สามารถเข้าถึงและจัดการไฟล์ข้อมูลต่างๆร่วมกันได้
จะว่าไปแล้วหน้าที่ของมันบางส่วนก็จะคล้ายๆกับ External Harddisk ที่มีพอร์ต USB เอาไว้เสียบโดยตรงเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อใช้สำรองข้อมูลเก็บไว้ แต่ NAS จะมีพอร์ต LAN หรือ Wi-Fi เอาไว้เชื่อมต่อกับเครือข่าย ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานหลายๆคน สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่แชร์ไว้และใช้งานไปพร้อมๆกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองทิ้งไว้ เพียงแค่เปิด NAS ให้เชื่อมต่อกับระบบไว้เท่านั้น
อีกทั้ง NAS ยังมีแอพต่างๆที่ช่วยในการจัดการระบบและอื่นๆ อาทิ ทำเป็น Media Server สำหรับเก็บและแชร์ไฟล์มีเดียต่างๆ, ตั้งค่าให้แบ๊คอัพข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายโดยอัตโนมัติ, ตั้งให้เป็น Print/Web/Mail Server ให้กับเครือข่ายในสำนักงานได้, จัดการระบบและเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต, มีพอร์ต USB เอาไว้แบ็คอัพข้อมูลร่วมกับ External Harddisk, รองรับ BitTorrent/FTP/HTTP/NZB/eMule เพื่อการดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลต่างๆโดยที่ไม่ต้องเปิดคอมฯ, สนับสนุนฮาร์ดดิสก์เพื่อการทำงานในแบบ Standard/JBOD/RAID 0/RAID 1 ฯลฯ
การเชื่อมต่อกับ NAS
- Ethernet (ช่องต่อ RJ-45) เป็นการเชื่อมต่อด้วยสาย LAN ระหว่างอุปกรณ์ NAS กับเครือข่ายฯ โดยมากมาตรฐานความเร็วที่รองรับจะเป็น 10/100/1000 Mbps
- Wireless อุปกรณ์ NAS บางรุ่น/ยี่ห้อ รองรับการเชื่อมต่อในแบบไร้สายหรือ Wi-Fi ได้ด้วย โดยจะทำหน้าที่เป็นตัว Wireless Hotspot หรือ Wireless Router ให้กับอุปกรณ์อื่นๆ หรือตัวมันเองยังสามารถที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายในแบบไร้สายได้ด้วย
การเลือกซื้อ NAS
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อนอกจากยี่ห้อและราคาแล้ว ก็ยังมีข้อควรคำนึงถึงอื่นๆอีกดังนี้
- รูปแบบ และการเชื่อมต่อ
ปัจจุบันอุปกรณ์จำพวก NAS ที่มีวางขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด จะมีเพียงบางรุ่นบางยี่ห้อเท่านั้นที่จะแถมหรือใส่ฮาร์ดดิสก์มาให้ในตัวด้วยเลย ซึ่งที่พบก็มักจะเป็นรุ่นเล็กๆที่ใส่ฮาร์ดดิสก์มาเพียงตัวเดียว แถมยังปิดสนิทไม่ยอมให้แกะอีกต่างหาก เรียกได้ว่าก็เหมาะสำหรับคนที่มีงบน้อย เพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้การใช้งาน NAS ที่ยังไม่ต้องมีฟังก์ชั่นพิเศษอะไรมาก และไม่ค่อยพิถีพิถันไปหาซื้อฮาร์ดดิสก์มาใส่เองให้ยุ่งยาก เพียงแค่ต้องการหาอุปกรณ์มาใช้สำหรับจัดเก็บและแชร์ข้อมูลบนเครือข่ายฯภายในบ้านอย่างง่ายๆ หรือนำไปใช้โหลดบิทปิดคอมฯทั่วๆไปแค่นั้น
แต่ถ้าใครกำลังมองหา NAS ไปใช้งานแบบจริงๆจังๆซักตัว ก็คงต้องมองหารุ่นที่สามารถใส่ฮาร์ดดิสก์เพิ่มได้มากๆ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ เพราะถ้ายิ่งมีจำนวนช่องให้ใส่ฮาร์ดดิสก์ได้มาก ราคาก็จะยิ่งแพงตามไปด้วย แต่อย่างน้อยๆเริ่มต้นก็ควรจะมีซัก 2 ช่องหรือ 2 สล็อต สำหรับใส่ฮาร์ดดิสก์ได้ 2 ตัวพร้อมๆกัน และถ้าเป็นไปได้อินเตอร์เฟสที่ใช้ก็ควรเป็น SATA-III ที่มีความเร็ว 6 Gbps ซึ่งสูงกว่า SATA-II อีกเท่าตัว และเมื่อใช้ฮาร์ดดิสก์อย่างน้อยๆ 2 ตัวอยู่แล้ว แน่นอนว่าเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เบื้องต้นก็ควรที่จะต้องสนับสนุนการทำ RAID 0, 1 และ JBOD ด้วย
- ฮาร์ดดิสก์ที่นำมาใช้
ปกติแล้วอุปกรณ์จำพวก NAS โดยมากมักจะมาเป็นกล่องแต่จะไม่มีฮาร์ดดิสก์ใส่มาให้ด้วย ดังนั้นเราจึงต้องหาฮาร์ดดิสก์มาใส่เพิ่มเข้าไปเอง ซึ่งการเลือกใช้ฮาร์ดดิสก์นี้ก็สำคัญเพราะต้องพิถีพิถัน ไม่ใช่สักแต่ว่าจะเอาของถูกๆอะไรยังไงง่ายๆมาใช้ก็ได้ เนื่องจาก NAS ต้องเชื่อมต่ออยู่กับเครือข่ายฯซึ่งอาจต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา แถมยังเป็นแหล่งเก็บและแชร์ข้อมูลสำคัญต่างๆให้กับผู้ใช้งานบนเครือข่ายฯ
ดังนั้นเพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น ฮาร์ดดิสก์ที่นำมาใช้ก็ควรต้องเป็นชนิดที่ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานบน NAS หรือ HDD For NAS โดยเฉพาะด้วย ซึ่งก็อาจมีราคาสูงกว่าฮาร์ดดิสก์ที่ใช้งานทั่วไปเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น NAS HDD WD Red หรือ NAS HDD Seagate เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรดูจากสเป็คของ NAS ด้วยว่า รองรับขนาดความจุสูงสุดของฮาร์ดดิสก์ที่สามารถจะนำมาใช้ได้ไว้ที่เท่าไหร่ เช่น ขนาดความจุสูงสุดต่อลูกที่ 4 TB หรือ 6 TB เป็นต้น เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในระยะยาว
- ซีพียู และแรมที่ใช้
หลายคนอาจไม่รู้ว่าอุปกรณ์จำพวก NAS นั้น จะมีองค์ประกอบต่างๆที่คล้ายกับคอมพิวเตอร์ คือจะมีซีพียู แรม ฮาร์ดดิสก์ และอื่นๆเป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ โดยมีซอฟแวร์ควบคุมเป็นตัวจัดการงานทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้า NAS ที่เราเลือกใช้ มีซีพียูกับแรมที่ดี ก็จะช่วยให้การทำงานต่างๆนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอน เช่น NAS รุ่นหนึ่ง ใช้ซีพียูความเร็ว 1.6 GHz แรม DDR3 ความจุ 512 MB กับ NAS อีกรุ่นหนึ่ง ที่ใช้ซีพียูความเร็ว 2.41 GHz แรม DDR3L ความจุ 1 GB ที่สามารถอัพเกรดภายหลังได้สูงสุดถึง 8 GB แน่นอนว่า NAS ตัวหลังนี้ย่อมมีประสิทธิภาพเหนือกว่าตัวแรกในทุกๆด้านแน่นอน แต่ราคาก็ย่อมต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตรงนี้อาจใช้วิธีเทียบเสป็คดูเอาจากรุ่น/ยี่ห้อที่มีราคาใกล้เคียงกันก็ได้
- พอร์ตเชื่อมต่อที่อยู่ภายนอก
ปกติที่ให้มาก็จะมีพอร์ต Gigabit Ethernet (RJ-45) ที่เอาไว้เชื่อมต่อกับเครือข่ายฯ กับพอร์ต USB 3.0 หรือ 2.0 ที่เอาไว้เชื่อมต่อกับ External HDD เพื่อแบ๊คอัพข้อมูล อย่างละ 1 ช่องอยู่แล้ว แต่หากเป็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพและราคาที่สูงกว่า อาจจะมี Gigabit Ethernet มาให้ถึง 2 พอร์ต สำหรับนำไปใช้ทำเป็นเซิร์ฟเวอร์และอื่นๆ รวมไปถึง USB ทั้ง 3.0 และ 2.0 ก็มักจะมีมาให้ไม่น้อยกว่า 2 พอร์ต นอกจากนี้ยังอาจจะมีพอร์ต HDMI มาให้ เพื่อใช้ต่อกับจอ HDTV ทำเป็น HD Station ผ่านซอฟต์แวร์ที่มีมาให้อย่าง Media Player และ Web Browser ต่างๆได้ด้วย
- ฟีเจอร์หรือคุณสมบัติพิเศษอื่นๆที่มีเพิ่มเติมมาให้
อันนี้ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฟีเจอร์เดิมๆอย่าง โหลดบิท, กำหนดสิทธิ์การเข้าใช้งาน, การเข้าถึงผ่านทาง Web Access ฯลฯ ที่มีมาอยู่แล้ว เพราะจะช่วยเพิ่มความสะดวกและความหลากหลายในการใช้งานให้มากขึ้น ซึ่งฟีเจอร์บางอย่างที่เพิ่มเข้ามาเราอาจได้ใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้าง อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานไหนได้บ้าง เช่น การทำ VPN, ความสามารถในการเล่นไฟล์มิเดียต่างๆโดยตรงจากตัว NAS ผ่านเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อแบบไร้สาย อาทิ Airplay, DLNA และอื่นๆ ไปเปิดดูได้จากบนตัวอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ทีวี สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ ที่เชื่อมต่ออยู่กับเครือข่ายฯภายในบ้าน หรือการทำให้ NAS เป็น Personal Cloud เพื่อใช้อัพโหลดข้อมูลและเข้าถึงไฟล์งานต่างๆได้อย่างอิสระจากภายนอกเครือข่ายฯ รวมไปถึงการยอมให้สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นอื่นๆ เพื่อเพิ่มเติมความสามารถให้กับตัวอุปกรณ์ และยอมให้มีการอัพเดตเพื่อปรับปรุงความสามารถในการทำงานได้ตามต้องการอย่างมีอิสระ เป็นต้น
- การรับประกัน
อันนี้ก็แล้วแต่ยี่ห้อ บางยี่ห้อก็ 1, 2 หรือ 3 ปี บางยี่ห้อก็รับประกันตลอดชีพหรือ Lifetime (LT)