1-2-3-4 มือถือ Gen ไหน คุณทันใช้บ้าง [ดักแก่!] ตอนที่ 1

ชีวิตวัยรุ่นของผม อยู่ในช่วงที่ตู้โทรศัพท์กับเพจเจอร์กำลังบูมสุดๆ จะคุยโทรศัพท์กับแฟนแต่ละทีต้องรู้เวลากัน แล้วเดินกำเหรียญไปยืนต่อแถวอยู่หน้าตู้ทุกวัน รอนานกว่าจะได้คุยแต่พอคุยก็คุยกันได้แป๊บเดียว เพราะมีสายตาหลายคู่คอยจับจ้องและส่งแรงอาฆาตพยาบาทมาจากนอกตู้อยู่ตลอด ^^! พอมีเพจเจอร์ก็ดีขึ้นมาหน่อย อาศัยขยันส่งข้อความบ่อยๆ ให้หายคิดถึง แต่ก็เขินๆ Call Center เค้าอยู่เหมือนกัน 555 สมัยนั้นอย่าไปพูดถึงโทรศัพท์มือถือ เพราะเห็นราคาแล้วจะเป็นลม!

นับแต่วันนั้นผ่านมาหลายปี โทรศัพท์มือถือก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ หลากหลายยี่ห้อมากขึ้น แถมราคาก็ถูกลง จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน โอกาสนี้ผมจึงขอหยิบยกเอาเรื่องราวประวัติความเป็นมาของโทรศัพท์มือถือ นับตั้งแต่ในยุคแรกๆ จนถึงยุคปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟัง แล้วเราลองมารื้อฟื้นความทรงจำเก่าๆ กันดีกว่า ว่าคุณทันใช้โทรศัพท์มือถือเด็ดๆ ในยุคใดบ้าง พร้อมแล้วตามไปดูกันครับ ^^

วิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือในยุคต่างๆ

ยุค 0G หรือ Zeroth Generation

การสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือในยุคแรกๆ จะเป็นการสื่อสารกันด้วยวิทยุสื่อสารไร้สายในระบบ
อนาล็อค (Analog) ผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Waves) โดยจะเป็นการสื่อสารกันในแบบกึ่งสองทาง (Half Duplex) คือ ผลัดกันเป็นผู้รับและผู้ส่ง หรือสลับกันพูด จะพูดพร้อมกันในเวลาเดียวกันไม่ได้ เช่น วิทยุสื่อสารที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเรือกับเรือ หรือรถไฟกับรถไฟในสมัยนั้น ฯลฯ

ต่อมาหลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายๆ ประเทศ เริ่มพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านการสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่กันอย่างจริงจัง โดยมีบริษัท Bell Mobile System ของอเมริกา ได้เข้ามาริเริ่มปรับปรุงโครงสร้างการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรายแรก แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเต็มระบบ เพราะยังรองรับการโทรพร้อมๆ กันได้น้อย และมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก ซึ่งตรงนี้เองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 0G หรือ Zeroth Generation

ยุค 1G หรือ First Generation

ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกจึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นผลงานการคิดค้นร่วมกันของนาย John F.Mitchell และนาย Martin Cooper จากบริษัท Motorola ซึ่งโทรศัพท์เครื่องนี้มีน้ำหนักมากถึงเกือบ 2 กิโลกรัม แถมยังต้องชาร์จไฟนานถึง 10 ชั่วโมง เพียงเพื่อให้ใช้งานโทรศัพท์ได้นานแค่ 30 นาที ถัดมาหลังจากนั้นอีก 6 ปี บริษัท NTT ก็ได้เปิดตัวเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระบบอัตโนมัติในเชิงพาณิชย์ขึ้นในญี่ปุ่นเป็นรายแรก พร้อมๆ กับการที่ Motorola ก็ได้เปิดตัว DynaTAC 8000X ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกที่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้งานใน
เชิงพาณิชย์

และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือในระบบอื่นๆ จากอีกหลายประเทศ เช่น ระบบนอร์ดิก (NMT : Nordic Mobile Telephone System) ที่มีให้บริการในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียนอย่าง เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งในปี พ.ศ. 2529 ประเทศไทยเองโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ก็ได้นำเอาระบบนี้เข้ามาใช้ แต่ได้ปรับเปลี่ยนความถี่ใช้งานจาก 450 MHz มาเป็น 470 MHz โดยให้ชื่อว่าระบบ NMT470 ซึ่งนับได้ว่าเป็นระบบโทรศัพท์มือถือระบบแรกที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย โดยในระยะแรกเปิดให้บริการเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายฝั่งด้านตะวันออก ก่อนขยายการให้บริการไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา สำหรับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ถูกนำมาใช้งานในระบบ NMT470 นี้ จะมีหน้าตาคล้ายกระเป๋าหิ้ว และมีน้ำหนักมาก พูดแบบนี้คนที่เป็นผู้ใหญ่หลายท่านคงนึกภาพออกกันนะครับ ^^

ต่อมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ประเทศไทยโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย ยังได้นำเอาระบบ AMPS (Advance Mobile Phone System) ที่ใช้งานบนความถี่ 800 MHz เข้ามาเปิดให้บริการด้วย โดยใช้ชื่อว่าระบบ AMPS800 ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อนี้ เพราะเป็นระบบที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น ด้วยข้อดีที่ว่าตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ถูกนำมาใช้งานกับระบบนี้ จะมีขนาดเล็กทำให้พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่านั่นเอง

ในช่วงที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ NMT470 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ก็ได้มีการกำหนดรหัสสำหรับการเรียกเข้าสู่ระบบโทรศัพท์มือถือที่เป็นการเฉพาะขึ้น นอกเหนือจากรหัสทางไกลสำหรับโทรไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยรหัสที่กำหนดคือ 01 ซึ่งผู้ที่ต้องการติดต่อหรือโทรเข้ายังระบบโทรศัพท์มือถือ ต้องใส่รหัส 01 แล้วตามด้วยหมายโทรศัพท์มือถือ 7 หลัก ซึ่งภายหลังผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบ AMPS800 ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอง ก็ถูกปรับให้มาใช้รหัสเลขหมายที่ขึ้นต้นด้วย 01 นี้ด้วยเช่นกัน

การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบต่างๆ ที่กล่าวมาในช่วงยุคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จนมาถึงราวๆ ปี พ.ศ. 2533 จะให้บริการรับส่งข้อมูลเฉพาะที่เป็นเสียง (Voice) หรือเป็นการโทรเข้าและรับสายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถรับส่งข้อมูลที่เป็น Data อย่างเช่น ข้อความหรือ SMS ได้ จึงถูกจัดให้เป็นระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 1G หรือ First Generation เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้ ยังคงเป็นแบบ อนาล็อค (Analog) ซึ่งยังคงใช้หลักการพื้นฐานของการส่งสัญญาณแบบ FDMA (Frequency Division Multiple Access) อยู่

โดยอาศัยวิธีการแบ่งช่องความถี่ออกเป็นความถี่ย่อยหลายๆ ช่อง แล้วใช้สัญญาณคลื่นวิทยุเป็นตัวนำพาคลื่นเสียงส่งไปยังสถานีรับ แต่ทั้งนี้เนื่องจากในทุกๆ 1 คลื่นความถี่ จะเท่ากับ 1 ช่องสัญญาณ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ
ที่เพิ่มขึ้นมาในเวลานั้น จะสามารถใช้บริการโทรศัพท์ได้เฉพาะในช่องความถี่ที่ว่างอยู่เท่านั้น ส่งผลให้เมื่อมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ระบบก็ไม่สามารถรองรับการให้บริการพร้อมๆ กันได้ จึงทำให้ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก และก่อให้เกิดเป็นแรงผลักดันเพื่อการพัฒนาไปสู่ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคถัดไป

เป็นไงกันบ้างครับมีใครทันใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคนี้กันบ้างมั๊ยเอ่ย? ^^ เดาว่าใครที่อายุเกิน 50 ไปแล้ว คงน่าที่จะได้มีโอกาสเห็นอยู่บ่อยๆ หรือบางคนอาจเคยใช้งานมาด้วยซ้ำ ^^ เดี๋ยวครั้งต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องราวของวิวัฒนาการในยุคต่อๆไปให้ฟังนะครับ อย่าลืมติดตามชมกันนะครับ ^^